ฝังเข็มคืออะไร สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง
ฝังเข็มคืออะไร สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง
การฝังเข็ม เป็นการรักษาโรคของแพทย์แผนจีน ที่มีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มมาอย่างยาวนาน และล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองว่า “การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้จริง” โดยให้ผลดีเทียบเท่า หรือมากกว่าการใช้ยาด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้หลายคนเริ่มสนใจการฝังเข็มมากยิ่งขึ้น หากคุณกำลังมองหาการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มคุณจะต้องศึกษาข้อมูลทางการแพทย์เสียก่อนเพื่อให้การรักษาที่ตรงจุดที่สุด ดังนั้นวันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาการฝังเข็มมาฝากพร้อมแล้วเราไปดูข้อมูลพร้อมรายละเอียดการรักษากันเลย
การฝังเข็มคืออะไร
การฝั่งเข็มเป็นการแทงเข็มเข้าไปใต้ผิวหนัง โดยเข็มที่ใช้ในการรักษาจะต้องเป็นเข็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ป่วยจึงปลอดภัยจากการติดเชื้อหลังการรักษานั่นเอง
จุดฝังเข็มบนร่างกายสามารถแบ่งประเภทได้กี่ประเภท
สำหรับจุดฝังเข็มสามารถแบ่งประเภทได้ 3 ประเภทดังนี้
- จุดฝังเข็มในระบบ หรือจุดในเส้นลมปราณ ทั่วร่างกายมีจุดฝังเข็มทั้งสิ้น 670 จุด โดยเป็นจุดหลักในการฝังเข็ม
- จุดฝังเข็มนอกระบบ หรือจุดนอกเส้นลมปราณ ทั่วร่างกายมีจุดฝังเข็มประมาณ 48 จุด โดยเป็นจุดที่มีสรรพคุณในการรักษาเฉพาะโรค หรือใช้ร่วมกับจุดในเส้นลมปราณเพื่อรักษาก็ได้
- จุดกดเจ็บ เป็นจุดที่ไม่มีตำแหน่งแน่นอน เป็นจุดที่มักใช้รักษาอาการปวดต่าง ๆ
การเลือกฝังเข็มแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการของโรคและจุดประสงค์ในการรักษา
การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร
ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น มากกว่า 35 ชนิด แล้วแต่ตำแหน่งที่ใช้ฝังเข็ม ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง
- กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดคอ
- โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดไมเกรน โดยร่วมกับการทำจิตบำบัด
- เลิกยาเสพติด อดบุหรี่ ลดความอ้วน โดยร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โดยร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ
- โรคภูมิแพ้ หืดหอบ และผื่นคันตามร่างกาย
- อาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดประจำเดือน
- โรคอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
การฝังเข็มเหมาะสมกับใคร
- ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งเป็นการเพิ่มสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาหลาย ๆ ชนิด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันของยา
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดยาที่ใช้รักษาโรคไม่ได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาระบาย เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกกับการฝังเข็ม
- ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพโดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย
ข้อห้ามในการฝังเข็มมีอะไรบ้าง
- โรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
- โรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน
- โรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
- โรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน
- ตั้งครรภ์
ต้องเตรียมตัวก่อนมารับการฝังเข็มอย่างไร
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย
- ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป
- สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น สามารถรูดขึ้นเหนือศอกและเหนือเข่าได้
- ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการฝังเข็ม
- ขณะฝังเข็มถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที
ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการฝังเข็มนานเท่าไร
การฝังเข็มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 – 3 ครั้ง และต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้วแต่โรคที่เป็นตามการพิจารณาของแพทย์
วิธีการฝังเข็ม
หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์จีน หรือแพทย์ฝังเข็มจะทำหน้าที่ตรวจชีพจรบริเวณข้อมืออีกครั้ง พร้อมทั้งอธิบายจุดที่ต้องฝังเข็มอย่างละเอียด ก่อนเริ่มขั้นตอนการฝังเข็ม
- แพทย์ฝังเข็มจะใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มลงบนผิวหนังราว 5-20 เล่ม การฝังเข็มแต่ละเล่ม แพทย์อาจใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเล็กน้อย หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า หรือเครื่องอบความร้อน ช่วยกระตุ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย เนื่องจากเข็มที่ใช้ในการฝังมีความบางและแหลมคมมาก เมื่อแทงผ่านผิวหนังจึงแทบไม่รู้สึกเจ็บเลย
- เมื่อฝังเข็มครบให้ผู้เข้ารับการฝังเข็มอยู่ในอิริยาบถผ่อนคลายประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าจะถอนเข็มออก (โดยทั่วไปใช้เวลาฝังเข็มประมาณ 20-30 นาที) ทั้งนี้ระยะเวลาอาจจะสั้น หรือนานกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในผู้เข้ารับการบำบัดแต่ละราย
- โดยทั่วไป ควรฝังเข็มประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 8-10 ครั้ง หรือ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ หรืออาการของผู้ป่วย
ระหว่างการฝังเข็ม ผู้เข้ารับการฝังเข็มจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ นิด ๆ หรือรู้สึกชาเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากปวดมาก มีอาการหน้ามืดใจสั่นจะเป็นลมให้รีบแจ้งแพทย์ฝังเข็มทันที เพื่อแพทย์จะได้ปรับองศาของเข็ม หรือลดแรงกระตุ้นไฟฟ้า หรือลดความร้อนลง เพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น