ทำไมต้องทำรีแพร์ช่องคลอดและมีกี่วิธีในการทำ
หลายคนอาจมีความสงสัยว่าทำไมต้องรีแพร์ช่องคลอด ซึ่งการรีแพร์ก็คือการซ่อมแซมตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่เกิดความหย่อนคล้อยภายในช่องคลอดให้กระชับขึ้น เพื่อให้ขนาดหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของช่องคลอดเล็กลงและเกิดการหดรัดที่ดีกว่าเดิม โดยเป็นการผ่าตัดตลอดแนวความลึกของช่องคลอด รวมถึงการผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อและผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดด้วย ซึ่งปัญหาชีวิตคู่ที่มีความสำคัญไม่น้อยคือเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อผู้หญิงมีปัญหาช่องคลอดหลวม ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงทุกคน เพราะนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อาจบานปลายจนทำให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นได้ ปัจจุบันนี้จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจกับการทำรีแพร์ เพราะเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้มีความสุขในเรื่องเพศมากขึ้นนั่นเอง
ทำไมต้องทำรีแพร์ ?
เมื่อช่องคลอดหลวม หย่อนคล้อย ไม่กระชับ ผู้หญิงบางคนอาจต้องการทำรีแพร์ เพราะอาจต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้
- เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
- อึดอัด ไม่สบายตัว เหมือนมีอะไรอยู่ในช่องคลอด
- ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา หรือไม่สามารถปัสสาวะให้หมดได้ในคราวเดียว
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือมีปัสสาวะเล็ดในขณะไอ จาม หรือกำลังยกของ
- รู้สึกหน่วง ๆ หรือหนักบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดหลังส่วนล่าง แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนอนลง
- สามารถมองเห็นหรือรู้สึกได้ถึงเนื้อส่วนที่นูนออกมาหรือหย่อนคล้อยลงมาที่ปากช่องคลอด
- กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ
รีแพร์ทำได้ 2 วิธี คือการผ่าตัดและการใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดรักษาแบบดั้งเดิม
ทำได้โดยการเย็บติดระหว่างผนังช่องคลอดกับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะเคลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ซึ่งจะช่วยทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นมีความกระชับตึงมากขึ้น แต่เป็นวิธีการที่ไม่นิยมในปัจจุบัน เพราะมีอัตราการล้มเหลวถึง 25-60% จึงได้มีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาด้วยเทคนิคใหม่ คือ การนำแผ่นพยุงตาข่ายพิเศษ (Mesh) แปะหรือฝังในผนังช่องคลอด ทำให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาช่องคลอดหย่อนยานได้ถึง 95% และหลังทำผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่ามีแผ่นพยุงอยู่ในช่องคลอด
- การใช้เลเซอร์
ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการกระชับช่องคลอด ทั้งนำมาใช้แทนการผ่าตัดทั่วไป และการใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดโดยไม่ผ่าตัด
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์
แพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณผนังช่องคลอดด้านหลัง โดยตัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของผนังช่องคลอดออก เพื่อให้ช่องคลอดมีขนาดเล็กลง ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ช่วยลดการสูญเสียเลือดและลดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อลง เจ็บน้อยกว่าและฟื้นตัวเร็วกว่า
- การใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดโดยไม่ผ่าตัด
ทำได้โดยนำหัวเลเซอร์สอดเข้าไปในช่องคลอด แล้วปล่อยพลังงานเลเซอร์ออกมาในคลื่นความยาวที่เหมาะสม ตลอดแนวความลึกของช่องคลอด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินขึ้นมาใหม่ ทำให้กล้ามเนื้อช่องคลอดมีความตึงตัวขึ้น ผนังช่องคลอดหดเล็กลง มีความแข็งแรงและกระชับขึ้น เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่มีการสูญเสียเลือดและไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ โดยมีการวัดความตึงตัวของช่องคลอดทั้งก่อนและหลังทำ จึงสามารถเห็นถึงผลของการใช้เลเซอร์กระชับช่องคลอดได้ ทั้งนี้ ผลการรักษาขึ้นกับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล
ก่อนทำรีแพร์ต้องเตรียมตัวอย่างไร
รีแพร์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคืนความมั่นใจให้สาว ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ง่าย และมีหลายวิธี แต่ก่อนที่จะคิดทำรีแพร์ ควรมีการเตรียมความพร้อมให้ดีก่อน 5 ขั้นตอน ดังนี้
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำรีแพร์
ก่อนที่จะตัดสินใจทำรีแพร์นั้น เราควรศึกษาให้ดีก่อนว่า การทำรีแพร์นั้นทำอย่างไร และมีวิธีไหนบ้าง ค่าใช้จ่ายในการทำรีแพร์เท่าไหร่ หลังจากทำรีแพร์แล้วต้องดูแลตัวเองอย่างไร และเราเข้าข่ายที่ต้องทำรีแพร์จริงๆ หรือแค่คิดไปเอง ซึ่งรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถศึกษาได้เบื้องต้นได้จากสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่รับทำรีแพร์ หรือจะลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนก็ได้
- พูดคุยทำความเข้าใจกับคู่รักก่อนตัดสินใจทำรีแพร์
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การตัดสินใจทำรีแพร์นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน นอกจากผู้ที่จะทำต้องตัดสินใจเองแล้ว ก็ควรมีการพูดคุยกับคู่รักอย่างเปิดเผย เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และจะได้ร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อความสุขของคนทั้งคู่
- เลือกแพทย์และสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำรีแพร์
เมื่อตัดสินใจว่าจะทำรีแพร์แน่ ๆ แล้ว ควรเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการทำรีแพร์ และสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ เพื่อที่ผลของการทำจะได้ออกมาดีเยี่ยม และปลอดภัย
- เตรียมความพร้อมร่างกายและจิตใจก่อนไปทำรีแพร์
การทำรีแพร์ ควรเป็นช่วงที่ประจำเดือนหมดไม่นาน (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เพื่อป้องกันแผลอักเสบและการปนเปื้อนของเลือด และควรตรวจมะเร็งปากมดลูก และตรวจภายในให้เรียบร้อย เพราะหลังจากผ่าตัดแล้วจำเป็นต้องหยุดตรวจไปสักระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันแผลผ่าตัดถูกกระทบกระเทือน