สักปิดรอยแผลเป็น

สักปิดรอยแผลเป็น

สักปิดรอยแผลเป็น คือการสักเพื่อรักษาหรือการสักทางการแพทย์ (Therapeutic or Paramedical Tattoo) เป็นการนำการสักมาใช้เพื่อการแก้ไขความผิดปกติของผิวหนังหรือโรคผิวหนังบางชนิด เช่น รอยแผลเป็น, แผลเป็นจากอุบัติเหตุ, แผลไฟไหม้, แผลน้ำร้อนลวก, แผลเป็นจากการผ่าตัด, โรคด่างขาว (VITILIGO), ผมร่วง, ขนคิ้วหรือขนตาร่วง, สร้างหัวนมใหม่หลังการผ่าตัดเต้านม, สร้างขอบปากหลังผ่าตัดปากแหว่ง เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ประโยชน์จากการ สัก ในบุคคลที่อาจมีความยากลำบากในการแต่งหน้า เช่น คนที่เป็นโรคข้อ หรือโรคที่ทำให้มือสั่น เคลื่อนไหวมือไม่สะดวก, คนที่แพ้เครื่องสำอาง, เป็นโรคภูมิแพ้ที่ทำให้น้ำตาไหลบ่อย ๆ หรือคนที่มีปัญหาด้านสายตา เช่น สายตาสั้น ใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น ในกรณีอย่างนี้แพทย์อาจแนะนำให้ทำการสัก เช่น สักขอบตา สักคิ้ว หรือสักปากถาวรไปเลย ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี

การเตรียมตัวก่อนการสัก

พบแพทย์เพื่อซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการจะ สัก จากนั้นแพทย์จะเลือกสีที่จะใช้สักให้เข้ากับสีผิว เพื่อให้หลังทำผลลัพธ์ที่ได้สวยงามใกล้เคียงสีผิวเดิมมากที่สุด

ขั้นตอนในการสัก

ก่อนจะเริ่มการสัก แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บขณะทำ

แพทย์จะทำการสักสีเข้าไปในผิวหนังโดยใช้เครื่องสัก โดยเข็มที่ใช้สักจะมีขนาดต่างๆ กันซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่สัก เข็มที่ใช้เป็นชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำ และในระหว่างการสักจะใช้เทคนิคที่ปราศจากเชื้อ เพื่อความสะอาดและปลอดภัย

ใช้เวลาในการสัก 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังทำการสัก สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องพักค้างคืนที่โรงพยาบาล

ในการสักอาจต้องทำซ้ำหลายครั้งขึ้นกับตำแหน่งที่สัก ส่วนจะสักกี่ครั้งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น สักปิดรอยแผลเป็นต้องทำประมาณ 3-4 ครั้ง ห่างกันประมาณ 1-2 เดือน เป็นต้น

ดูแลอย่างไรหลังการสัก

เมื่อผ่านพ้นขั้นตอนการ สัก สีลงบนผิวหนังแล้ว ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี และไม่เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อาทิ การอักเสบติดเชื้อ ดังนี้

หลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำประมาณ 3 วันหลังการสัก

  • ห้ามใช้สบู่ ครีมทำความสะอาดผิว (Cleansers) เครื่องสำอางใด ๆ ในบริเวณที่ทำการสัก และหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด การอาบน้ำร้อน หรืออบซาวน่า อย่างน้อย 3 วันหลังการสัก
  • ห้ามลงสระว่ายน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เนื่องจากคลอรีนในสระจะทำให้สีที่สักไว้จางลงได้
  • รักษาความชุ่มชื้นบริเวณที่ทำโดยทายาที่แพทย์สั่ง วันละ 3 – 4 ครั้ง
  • ถ้าพบว่าบริเวณที่ทำมีสะเก็ด ห้ามแกะหรือลอกออกเด็ดขาด สะเก็ดจะลอกหลุดไปเองประมาณ 1 สัปดาห์
  • อาจรู้สึกแสบเล็กน้อยบริเวณที่สัก ส่วนอาการปวดพบน้อยมาก ถ้าปวดให้รับประทานยาแก้ปวดได้
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น เต้นแอโรบิก ยกน้ำหนัก อย่างน้อย 3 วัน
  • ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

ใช้เวลาการลบนานแค่ไหน รอยสักถึงจะหายไป

การลบรอยสักจะใช้เวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับปริมาณสี ชนิดของสีที่สัก ความลึกของการสัก และปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยเอง บางคนยิงเลเซอร์เพียงครั้งเดียวก็จางได้ เช่น คนที่สักด้วยสีดำสีเดียว จะลบได้ง่ายที่สุดเพราะสีดำจะดูดซึมแสงเลเซอร์ได้เกือบทุกชนิดและดูดได้มากที่สุด แต่บางคนอาจต้องกลับมาทำซ้ำๆ หลายครั้งจึงจะเห็นผล เช่น รอยสักที่มีสีหลากหลายก็อาจต้องยิงเลเซอร์หลายครั้ง อาจต้องกลับมาทำซ้ำประมาณ 5 – 6 ครั้งกว่าจะจางหมด โดยทำห่างกันทุก 1-2 เดือน ซึ่งจำนวนครั้งในการทำเลเซอร์แพทย์จะเป็นผู้ประเมินให้ทราบ ส่วนเลเซอร์จะสามารถลบรอยสักออกได้ 100% หรือไม่ ก็ขึ้นกับปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้ารักษาให้ครบตามแผนการรักษาของแพทย์ รอยสักมักจะจางลงเรื่อยๆ ได้มากถึง 95%

อันตรายจากการลบรอยสัก มีอะไรบ้าง

การลบรอยสักจะมีอันตรายหรือไม่ขึ้นกับวิธีที่ใช้ในการลบรอยสัก ในกรณีที่ลบรอยสักโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีความปลอดภัย โดยแพทย์มักจะเลือกใช้วิธีมาตรฐานอย่างการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ ซึ่งเลเซอร์ที่ใช้จะเป็นเลเซอร์สำหรับใช้ลบรอยสักโดยเฉพาะ และแพทย์จะยิงแสงเลเซอร์ในขนาดที่พอเหมาะ, จำนวนครั้งในการทำเหมาะสมที่ทำให้รอยสักจางลงได้โดยไม่เกิดผลแทรกซ้อนตามมา แต่ในกรณีที่ไปลบรอยสักโดยใช้น้ำยาลอกลายที่เป็นกรดเพื่อกัดผิวหนังบริเวณที่สักให้หลุดออกไป เป็นวิธีที่มีอันตรายและไม่แนะนำให้ทำ เพราะน้ำกรดจะมีฤทธิ์กัดกร่อนค่อนข้างแรง ถ้ารอยสักมีขนาดใหญ่หรือเป็นบริเวณกว้าง ทำไปแล้วไม่ได้รับการดูแลแผลอย่างดีมีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อได้ และเมื่อแผลหายแล้วมีโอกาสเป็นแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้